Business

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power รังสรรค์เป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกกำลังสถาบันอาหาร ยกระดับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการชุมชน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างมูลค่าวัตถุดิบท้องถิ่น เผยแพร่อัตลักษณ์วิถีชุมชน จากการนำวัตถุดิบท้องถิ่นผสมผสานภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชุมชน เกิดการรังสรรค์เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 26 เมนู จาก 13 ชุมชน ภายใต้กิจกรรม มุ่งยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power รังสรรค์เป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม คาดว่าจะสามารถกระตุ้นเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้กว่า 5.6 ล้านบาท

 นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน Soft Power อาหาร ซึ่งอาหารไทยเพียบพร้อมด้วยรสชาติ และคุณประโยชน์จากวัตถุดิบ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในระดับโลก” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ในปีนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร สร้างมูลวัตถุดิบท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้เกิด “โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน” ซึงภายใต้โครงการดังกล่าว มีกิจกรรมที่สำคัญคือการมุ่งยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power รังสรรค์เป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัว เพิ่มทักษะการประกอบการธุรกิจด้านอาหารในการนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมและวัฒนธรรมท้องถิ่นผนวกความคิดสร้างสรรค์ รังสรรค์เป็น “เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” ที่มีคุณค่าและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารท้องถิ่นได้โดยใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาประยุกต์ให้เกิดเป็นเมนูที่โดดเด่นได้

และจากการดำเนินกิจกรรมนี้ ดีพร้อมเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้ชุมชนสามารถปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้มี ความเข้มแข็ง เกิดการกระจายรายได้ มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไปถ่ายทอดให้คนในชุมชนรุ่นต่อไปได้ เพื่อเกิดเป็นชุมชนต้นแบบและโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนด้านอุตสาหกรรมอาหาร จนก่อให้เกิดการขยายผลไปยังชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และยังเป็นการสร้างจุดขายและรายได้ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้กับชุมชน อันจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน

นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการชุมชน ทั้งในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจ มีการจดทะเบียนในปี 2566 จำนวน 84,759 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 524 แห่ง โดยธุรกิจชุมชนเหล่านี้สร้างรายได้ ต่อปีมากกว่า 2.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “ธุรกิจชุมชน” จึงเกิดการผลักดันขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น : วัฒนธรรม วิถีชีวิต ธรรมชาติ และอาหาร เพื่อยกระดับเมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเป็น “เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” โดยเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2566 เพื่อรังสรรค์และพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นให้กลายเป็นเมนูเด็ดดีพร้อม จำนวน 26 เมนู จาก 13 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้ชุมชนสามารถปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงสามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการยกระดับมาตรฐาน การครองชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น

นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อไปว่า ภายในกิจกรรม “ยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power รังสรรค์เป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 3 กิจกรรม

  • กิจกรรม “ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Creative chef camp)” ระหว่างวันที่ 20 – 22กุมภาพันธ์ 2567
  • กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำ (Coaching) ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 4 – 19มีนาคม 2567
  • กิจกรรมแถลงข่าวสร้างการรับรู้และสรุปผลการดำเนินงาน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567

 ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 16.8% และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 1,796.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 โดยไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 4% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 70 ล้านบาท จากการสำรวจกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลเลือกเดินทางมาประเทศไทยคือ ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม และอัธยาศัยไมตรีของคนท้องถิ่น ซึ่งเห็นได้ชัดว่า “อาหาร” คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คำนึงถึง และจากการรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายต่อคน โดยพบว่า อาหารที่นิยมรับประทานที่สุด ได้แก่กลุ่มอาหาร Street Food (77.03%) รองลงมาเป็นร้านอาหารท้องถิ่น หรือทัวร์อาหารท้องถิ่น (45.72%) กลุ่มร้านอาหารไทย แบบ Fine Dining กลุ่ม Café และกลุ่มร้านอาหารนานาชาติ แบบ Fine Dining ตามลำดับ

 ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้รัฐบาลมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในสายตานักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมากขึ้นผ่านการส่งเสริม Soft Power 8 อุตสาหกรรม ซึ่ง “อาหารไทย” เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ และยกระดับผู้ประกอบการชุมชนเพื่อพัฒนาเมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการจัดทำเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม ซึ่งสอดรับกับภาระกิจของกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร ที่ให้ความสำคัญกับภาระกิจในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในทุกระดับให้สามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดได้ ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ การวิจัย และการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ  

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) และสถาบันอาหาร จะร่วมกันผลักดันให้ “ประเทศไทยเป็นจุดหมายสำคัญในการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power รังสรรค์เป็นเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม เพื่อต่อยอดพลังแห่ง Soft Power ในการส่งต่อไปยังนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้คนในชุมชนและเป็นการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมให้แก่ประเทศอีกทางหนึ่ง